ทุกวันนี้การดำรงชีวิตของเรานั้นต้องเป็นทั้งผู้บริโภคสินค้าและบริการอยู่ตลอด ทั้งสินค้าที่เป็นของกิน ของใช้ และเครื่องประดับตกแต่งต่าง ๆ อีกทั้งใช้บริการต่าง ๆ อยู่สม่ำเสมอ ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าและบริการเหล่านั้นก็ไม่ได้ดีเสมอกันไปทั้งหมด ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่เราต้องรู้สิทธิของผู้บริโภคที่พึงมี และความชอบธรรมที่เราควรได้รับจากกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เป็นการป้องกันตนเองในเบื้องต้นและหลีกเลี่ยงการเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ
กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค คืออะไร
เป็นกฎหมายที่ตรงขึ้นเพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชนชาวไทย ที่ต้องใช้ชีวิตส่วนมากเป็นผู้บริโภคอยู่เสมอทั้งทางด้านสินค้าและบริการ ทุกวันนี้สื่อต่าง ๆ มีเทคโนโลยีในการโฆษณาก้าวล้ำไปไกลและสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย กฎหมายจึงต้องเร่งรีบทำการดูแลและติดตามคุณภาพของสินค้าและบริการทุกชนิดอย่างเข้มงวดเพื่อให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมให้มากที่สุด แต่หากเกิดเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถดูแลทั่วถึงได้ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการใช้สินค้าอุปโภคบริโภคหรือบริการต่าง ๆ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องรีบเข้าไปดูแลและแก้ไข ประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขให้ไวที่สุด ตลอดจนเยียวยาและประสานชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน โดยกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ได้แบ่งหน่วยงานรับผิดชอบตามประเภทและกรณีที่ผู้บริโภคได้รับความไม่เป็นธรรม ดังนี้
- เครื่องสำอาง อาหารและยา – สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
- มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม – สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน อาคารชุด – กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย
- ราคาและคุณภาพของสินค้าอุปโภคบริโภค – กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
- ประกันชีวิตหรือประกันภัย – กรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์
สิทธิของผู้บริโภค
- สิทธิอันควรที่จะได้รับข่าวสารอย่างถูกต้อง สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้
- สิทธิของความอิสระในการตัดสินใจเลือกสินค้า ไม่บังคับและกดขี่ข่มเหง
- สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยในการใช้สินค้าและบริการ
- สิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยหรือค่าเสียหายกรณีที่ได้รับผลเสียจากการใช้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ตลอดจนการละเมิดสิทธิ
หน้าที่ของผู้บริโภค
- เลือกซื้อสินค้าอย่างระมัดระวังรอบคอบเพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ ไม่เห็นแก่คำโฆษณาหรือส่วนลด ตรวจสอบความเรียบร้อย วันเดือนปีที่หมดอายุ และฉลากต่าง ๆ ให้ดี
- ทุกครั้งที่ต้องมีการทำสัญญาและลงลายมือชื่อ ให้อ่านอย่างละเอียดและตรวจสอบให้ถ้วนถี่ทุกครั้งอย่างรอบคอบ
- เก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้องในการซื้อขายหรือรับบริการ เช่น ใบเสร็จต่าง ๆ
- เมื่อได้รับความเสียหายด้วยตนเองหรือพบการละเมิดสิทธิอย่างไม่เป็นธรรมทั้งสินค้าและบริการ ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด
ที่มา
http://www.mwit.ac.th