มารู้จัก สคบ. กันเถอะ

มารู้จัก สคบ. กันเถอะ

post

เชื่อว่าเราชาวไทยในฐานะที่เคยเป็นผู้บริโภคทั้งหลายต้องเคยได้ยินคำว่า  สคบ.  กันมาบ้าง  เวลาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการใช้สินค้าต่าง ๆ  อาจมีคนเคยแนะนำว่า  “ แจ้ง  สคบ. สิ ” หลายคนอาจทราบและมีหลายคนที่ไม่ทราบเลยก็มี  วันนี้  เราจะมาทำความรู้จักกันว่า  สคบ.  คืออะไร  และมีหน้าที่อะไรบ้าง

สคบ.  คืออะไร

สคบ.  ย่อมาจาก  สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  เป็นหน่วยงานส่วนราชการในระดับกรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2522  ปัจจุบัน  สคบ. มีสำนักงานตั้งอยู่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ  80  พรรษา  5  ธันวาคม  2550  อาคารบี  ชั้น  5  ถนนแจ้งวัฒนะ  แขวงทุ่งสองห้อง  เขตหลักสี่  กรุงเทพ

หน้าที่ของ  สคบ.

  1. คอยดูแลและรับเรื่องราวร้องทุกข์ของผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน  ทั้งจากทางสินค้าและบริการ
  2. คอยดูแลสอดส่องและตรวจสอบผู้ประกอบการใหม่ หรือทดสอบสินค้าใหม่ที่มีข้อสงสัยว่าอาจกระทำการที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
  3. ศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดกับผู้บริโภค ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง  ตลอดจนคิดค้นปรับเปลี่ยนหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด
  4. ส่งเสริมการให้ความรู้ต่าง ๆ ทั้งข้อมูลและสิทธิของผู้บริโภคที่พึงได้รับเพื่อที่ผู้บริโภคจะได้เข้าใจถึงปัญหาและสามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ในเบื้องต้น
  5. ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ตลอดจนแจ้งรายชื่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย  มีสารปนเปื้อนให้แก่ผู้บริโภคทราบ  ผ่านทางสื่อต่าง ๆ เช่น วิทยุ  โทรทัศน์  อินเตอร์เน็ต  เป็นต้น
  6. เมื่อเกิดการร้องทุกข์จากผู้บริโภค ทางหน่วยงานจะช่วยประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาได้ถูกจุดและทันท่วงที

เห็นไหมคะว่า  สคบ.  นั้น  เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญและสามารถช่วยเหลือเราจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการได้  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น  เราในฐานะผู้บริโภคก็ต้องรู้จักดูแลป้องกันตัวเอง  ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นในการบริโภคสินค้าและบริการต่าง ๆ ให้ปลอดภัย  คอยอัพเดทข่าวสารจาก  สคบ. อยู่อย่างสม่ำเสมอ  เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ประกอบการที่เห็นแก่ตัวและเอารัดเอาเปรียบ  แต่ในกรณีที่เราหลีกเลี่ยงก็แล้วป้องกันก็แล้ว  แต่ก็ยังเป็นเหยื่อจากผู้ประกอบการ  ได้รับสารอันตรายจากสินค้า  หรือได้รับสินค้าที่หมดอายุ  ไม่ตรงตามความต้องการ  ไม่ปลอดภัย  หรือหากท่านพบการกระทำการใด ๆ ที่ผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม  ท่านสามารถกระทำการร้องเรียนได้ตามช่องทางต่าง ๆ ของ  สคบ.  ดังนี้

–  แจ้งข้อมูลหรือสามารถมาร้องเรียนได้ด้วยตนเองได้ที่  สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  ทำเนียบรัฐบาล กทม.  10300

–  เขียนจดหมายแล้วส่ง  ที่อยู่  สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  ตู้ ป.ณ. 99  กรุงเทพ ฯ  10300

–  โทรศัพท์แจ้งที่สายด่วนร้องทุกข์  สคบ.  โทร. 1166

http://www.ocpb.go.th

รายละเอียดที่ควรรู้ของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

รายละเอียดที่ควรรู้ของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

post

ทุกวันนี้การดำรงชีวิตของเรานั้นต้องเป็นทั้งผู้บริโภคสินค้าและบริการอยู่ตลอด  ทั้งสินค้าที่เป็นของกิน  ของใช้  และเครื่องประดับตกแต่งต่าง  ๆ อีกทั้งใช้บริการต่าง ๆ อยู่สม่ำเสมอ  ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าและบริการเหล่านั้นก็ไม่ได้ดีเสมอกันไปทั้งหมด  ดังนั้น  จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่เราต้องรู้สิทธิของผู้บริโภคที่พึงมี  และความชอบธรรมที่เราควรได้รับจากกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค  เป็นการป้องกันตนเองในเบื้องต้นและหลีกเลี่ยงการเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ

กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค  คืออะไร

เป็นกฎหมายที่ตรงขึ้นเพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชนชาวไทย  ที่ต้องใช้ชีวิตส่วนมากเป็นผู้บริโภคอยู่เสมอทั้งทางด้านสินค้าและบริการ  ทุกวันนี้สื่อต่าง  ๆ  มีเทคโนโลยีในการโฆษณาก้าวล้ำไปไกลและสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย  กฎหมายจึงต้องเร่งรีบทำการดูแลและติดตามคุณภาพของสินค้าและบริการทุกชนิดอย่างเข้มงวดเพื่อให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมให้มากที่สุด  แต่หากเกิดเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถดูแลทั่วถึงได้  ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการใช้สินค้าอุปโภคบริโภคหรือบริการต่าง ๆ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องรีบเข้าไปดูแลและแก้ไข  ประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขให้ไวที่สุด  ตลอดจนเยียวยาและประสานชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน  โดยกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคนั้น  ได้แบ่งหน่วยงานรับผิดชอบตามประเภทและกรณีที่ผู้บริโภคได้รับความไม่เป็นธรรม  ดังนี้

  1.   เครื่องสำอาง อาหารและยา  –  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
  2.  มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  –  สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
  3.   ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน  อาคารชุด –  กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย
  4.   ราคาและคุณภาพของสินค้าอุปโภคบริโภค  – กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
  5.   ประกันชีวิตหรือประกันภัย  –  กรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์

สิทธิของผู้บริโภค

  1.  สิทธิอันควรที่จะได้รับข่าวสารอย่างถูกต้อง  สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้
  2.  สิทธิของความอิสระในการตัดสินใจเลือกสินค้า  ไม่บังคับและกดขี่ข่มเหง
  3.  สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยในการใช้สินค้าและบริการ
  4.  สิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยหรือค่าเสียหายกรณีที่ได้รับผลเสียจากการใช้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ  ตลอดจนการละเมิดสิทธิ

หน้าที่ของผู้บริโภค

  1.  เลือกซื้อสินค้าอย่างระมัดระวังรอบคอบเพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ  ไม่เห็นแก่คำโฆษณาหรือส่วนลด  ตรวจสอบความเรียบร้อย  วันเดือนปีที่หมดอายุ  และฉลากต่าง ๆ  ให้ดี
  2. ทุกครั้งที่ต้องมีการทำสัญญาและลงลายมือชื่อ ให้อ่านอย่างละเอียดและตรวจสอบให้ถ้วนถี่ทุกครั้งอย่างรอบคอบ
  3. เก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้องในการซื้อขายหรือรับบริการ เช่น  ใบเสร็จต่าง ๆ
  4. เมื่อได้รับความเสียหายด้วยตนเองหรือพบการละเมิดสิทธิอย่างไม่เป็นธรรมทั้งสินค้าและบริการ ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด

 

ที่มา

http://www.mwit.ac.th

มาขับรถให้ถูกต้องต่อตนเองและผู้อื่น  โดยใช้หลักขับขี่สี่ประการกันเถอะ

มาขับรถให้ถูกต้องต่อตนเองและผู้อื่น โดยใช้หลักขับขี่สี่ประการกันเถอะ

post

เมื่อฤดูกาลปิดเทอมใหญ่ของเหล่านักเรียนนักศึกษามาเยือน  เทศกาลสงกรานต์ก็กำลังจะมาถึง  หลายท่าน  หลายครอบครัว  ต่างก็วางแผนกลับบ้านต่างจังหวัดในวันหยุดยาว  บ้างก็วางแผนไปท่องเที่ยว  ซึ่งนั่นหมายความถึงบนท้องถนนจะมีทั้งคนและยวดยานที่สัญจรไปมาเพิ่มมากขึ้น  เป็นที่แน่นอนว่าเมื่อ   จำนวนรถเพิ่ม  อัตราการเกิดอุบัติเหตุก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นด้วย  ในเมื่อเราหลีกเลี่ยงการเดินทางไม่ได้ก็ต้องมีวิธีการที่จะป้องกันตนเองและผู้อื่นให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุบนท้องถนน  เพียงมีหลักขับขี่สี่ประการไว้ในใจ  ดังนี้

  1. ตรวจทุกสภาพ 

ก่อนออกเดินทางทั้งใกล้ไกล  สิ่งแรกที่คุณควรทำคือ  ตรวจทั้งสภาพรถและสภาพผู้ขับขี่ให้อยู่ในภาวะที่มีความพร้อมที่สุด  อาทิเช่น  ตรวจเช็คทั้งระบบไฟ  แผงควบคุม  อุปกรณ์ภายในรถว่าเรียบร้อยดีหรือไม่  ตรวจและเติมน้ำกลั่นให้อยู่ในระดับที่กำหนด  เป็นต้น  ส่วนตัวผู้ขับขี่เองนั้นควรอยู่ในสภาพแข็งแรง  ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย  ไม่รับประทานยาใด ๆ ที่มีผลทำให้ง่วงซึมทำให้สมรรถภาพในการขับขี่ลดลง  และควรนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอก่อนวันออกเดินทาง

  1. ขับให้มีสติ 

การขับขี่ยวดยานพาหนะทุกชนิดนั้น  สิ่งสำคัญที่สุดคือ  สติในการขับขี่  เราต้องมีสมาธิอยู่กับการขับรถ  หากมีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้นเฉพาะหน้า  สติจะทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหานั้นได้ทันท่วงที  อาจหลีกเลี่ยงได้ทันควันหรือผ่อนหนักเป็นเบาได้  การกระทำอื่นใดที่จะดึงสมาธิเราในลดน้อยถอยลงนั้นควรหลีกเลี่ยง  เช่น  การเล่นโทรศัพท์มือถือ  การรับประทานอาหาร  เป็นต้น

  1. คิดเผื่อไว้แหละดี 

การคิดเผื่อ  คืออะไร  คิดเผื่อคือ  บนท้องถนนมีคนมากมายหลายหลากที่มาจากต่างท่องที่  ต่างนิสัย  ต่างความคิด  อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้นแม้ว่าเราจะระมัดระวังอย่างที่สุดแล้วก็ตามที  เช่น  เราขับทางหลักผ่านเขตชุมชนที่เขียนว่าเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเลี้ยวได้ทันควัน  อาจมีรถเล็กรถใหญ่ที่ขับย้อนศรมา  ให้ดูหน้าดูหลังให้ดี  หรือกระทั่งสัญญาณจราจร  เมื่อมีสัญญาณไฟเขียวแล้วก็ตาม ให้เรามองรถจากทุกช่องทางการขับขี่ก่อน  แล้วค่อย ๆ  ออกตัวไม่ใช่เหยียบพุ่งออกไปอย่างแรง  เพราะอาจมีรถที่มาจากอีกด้านที่เมื่อไฟเหลืองก็ยังไม่ยอมหยุด  พยายามเหยียบออกไปและเบรกไม่ทัน  อาจเป็นผลให้เกิดอุบัติเหตุชนกันได้  เหล่านี้เป็นต้น

  1. ขับขี่มีน้ำใจ 

น้ำใจ  เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในการขับขี่บนท้องถนน  จากหลายกรณีที่เราเห็นตามข่าวและหน้าหนังสือพิมพ์  ล้วนแล้วมีสาเหตุจากความใจร้อน  รีบเร่ง  เห็นแก่ตัว  ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท  อุบัติเหตุ  และการสูญเสียตามมา  เพียงแค่เราใจเย็นลง  มีน้ำใจ  มีรอยยิ้มให้ผู้ร่วมทาง  เป็นเรื่องที่ทำไม่ยากเลย  เช่น  มีรถจอดรอด้านซ้ายจะขึ้นมาบนเส้นหลัก  เราขับอยู่เลนซ้าย  เมื่อเรามองดูผ่านกระจกแล้วพบว่ารถเลนขวาว่าง  ก็ควรเปลี่ยนเลนมาด้านขวาเพื่อให้รถคันนั้นขึ้นมาบนเลนซ้ายได้  หรือเราขับขวาอยู่แต่มีรถที่ขับเร็วกว่าขับตามมาด้านหลัง  เราก็ควรเปลี่ยนเลนไปซ้ายเพื่อให้เขาแซงไปได้  เหล่านี้เป็นต้น

หลักขับขี่สี่ประการนี้  คงเป็นประโยชน์ให้ผู้ขับขี่ได้ไม่มากก็น้อย  เพื่อความปลอดภัยต่อตนเองและผู้อื่น  ท่องไว้  “  ตรวจทุกสภาพ  ขับให้มีสติ  คิดเผื่อไว้แหละดี  ขับขี่มีน้ำใจ  ”